top of page

เทคโนโลยีสมัยใหม่จำเป็นต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์เป็นระบบต่อเนื่องเป็นฐานรองรับมิใช่แต่เพียงอาศัยประสบการณ์หรือวิทยาศาสตร์สังเกตเท่านั้น และความรู้หรือทฤษฎีใหม่ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกค้นพบก็มิใช่ว่าจะถูกนำไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยีใหม่ตามมาเสมอไป ความรู้และทฤษฎีวิทยาศาสตร์บางอย่างแม้จะถูกค้นพบมานานก็ยังคงเป็นความรู้พื้นฐานสะสมไว้เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะความรู้วิทยาศาสตร์บางอย่างเป็นไปเพื่อความรู้ความสนใจจริง ๆ ไม่ได้เกิดมาจากปัญหาเฉพาะหน้า หรือสถานการณ์บังคับเพื่อแก้ปัญหาสังคมและเศรษฐกิจ ไม่มีแรงผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา ความรู้วิทยาศาสตร์บางอย่างเกิดขึ้นมานานกว่าจะถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นเทคโนโลยี เช่น ความรู้ทางฟิสิกส์สุริยะมีมานานก่อนที่จะพัฒนาเป็นเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้เพราะแต่เดิมโลกไม่ขาดแคลนพลังงาน จึงเห็นได้ว่า ช่วงเวลาระหว่างการค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นมานั้น อาจสั้นหรือยาว ก็แล้วแต่ความเร่งด่วนทางเศรษฐกิจและสังคมและความยากง่ายของความรู้วิทยาศาสตร์นั้น ๆ บางครั้งเทคโนโลยีใหม่ก็พัฒนามาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ดั้งเดิมได้ เช่น พวกอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าบางอย่าง เช่นกะทะไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้าอัตโนมัติ เป็นต้น และความรู้วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถใช้ประโยชน์ด้านปฏิบัติได้ ถ้าไม่มีการนำความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้
เมื่อก่อนวิทยาศาสตร์ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากนัก แต่ปัจจุบันทั้งสองวิชานี้ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน วิทยาศาสตร์ตอนแรก ๆ ใช้เพียงวิธีสังเกตและเหตุผล เมื่อต้องทดลองบ้างก็เริ่มใช้เครื่องมือ เมื่อการทดลองยุ่งยากขึ้น ความต้องการเครื่องมือก็มีมากขึ้น เครื่องมือจะต้องดีและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย การทดลองทางวิทยาศาสตร์ในระยะสั้น ๆ นี้ ต้องอาศัยเทคโนโลยี เช่น การวิจัยเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และอวกาศ เป็นต้น จึงกล่าวได้ว่า ปัจจุบันวิทยาศาสตร์พึ่งเทคโนโลยี ไม่น้อยกว่าเทคโนโลยีพึ่งวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันความรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้ก้าวไปไกลและกว้างขวางมาก ปีหนึ่ง ๆ มีรายงานเสนอผลของการวิจัยพิมพ์ออกมาไม่น้อยกว่าล้านเรื่อง ใครต้องการความรู้เหล่านั้นก็หาได้ง่าย ผิดกับความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งหาได้ยากกว่ามาก เทคโนโลยีสร้างขึ้นมาต้องอาศัยวิทยาศาสตร์ แต่วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นโดยไม่ได้อาศัยเทคโนโลยี ต่อมาทั้งสองวิชาเริ่มมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น ถึงแม้บางเรื่องต่างเจริญด้วยตนเอง แต่เทคโนโลยีก็ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์มากกว่าและมีความเจริญก้าวหน้าตามวิทยาศาสตร์ไม่ทัน (ก่องกัญจน์ ภัทรากาญจน์ และ ธนกาญจน์ ภัทรากาญจน์, 2530 : 11)
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะถือกำเนิดมาจากวิทยาศาสตร์ ดังกล่าวข้างต้นก็ตาม แต่มีข้อควรพิจารณาที่สำคัญหลายประการดังที่ เพียร ซ้ายขวัญ (2536 : 111-112) กล่าวไว้ดังนี้ คือ
1. เมื่อมีการค้นพบความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์ ก็มิได้หมายความว่า จะต้องมี
เทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นเสมอ โดยปกติจะมีช่วงเวลาเหลื่อมระหว่างการค้นพบความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์นั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจะสั้นหรือยาวหลายสิบปี หรือ 100 ปีก็ได้ สุดแท้แต่ความยากง่ายของความรู้ใหม่ ความต้องการ ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ ทางสังคมและอื่น ๆ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหรือแรงผลักดันที่ทำให้มีการพยายามพัฒนาเทคโนโลยี
2. เทคโนโลยีใหม่ ๆ นั้น อาจอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ดั้งเดิมก็ได้ เช่น
หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เกี่ยวกับแสงเลเซอร์ เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไฟฟ้าอิเล็กทรอนิคส์ และคลื่นแสง ซึ่งไม่ใช่ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด
สรุปได้ว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะไม่มีคุณค่า ถ้าหากปราศจากเทคโนโลยีมาเชื่อมโยง และเทคโนโลยีที่ปราศจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานก็ไม่สามารถจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด

bottom of page